Powered By Blogger

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

3. ศิลปะแบบทวารวดี (ต่อ)

    สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานว่า พระเจ้าอนิรุทธมหาราชแห่งเมืองพุกามคงเสด็จยกทัพมาตีนครปฐม ซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดีในปลายพุทธศตวรรษที่ 16 แทนที่จะไปตีเมืองสะเทิมดังกล่าวไว้ในพงศาวดารพม่า เพราะที่เมืองนครปฐมมีโบราณวัตถุสถานทางพระพุทธศาสนามากกว่าที่เมืองสะเทิม อานันทเจดีย์ซึ่งสร้างขึ้นที่เมืองพุกามในรัชกาลของพระเจ้าคันชิตหรือจันชิตถา ราชโอรสองค์ที่ 2 ของพระเจ้าอนิรุทธมหาราชก็มีแผนผังเหมือนกับที่วัดพระเมรุที่จังหวัดนครปฐม เปลี่ยนแต่พระพุทธรูปในซุ้มทั้ง 4 เป็นพระยืน ที่วัดพระเมรุเป็นพระนั่งห้อยพระบาท อาณาจักรทวารวดีคงหมดอำนาจลงเนื่องจากการรุกรานของพระเจ้าอนิรุทธครั้งนี้ อย่างไรก็ดีความข้อนี้นักปราชญ์บางท่านก็ยังไม่ยอมเชื่อ และเห็นว่าอาณาจักรทวารวดีคงสลายตัวลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 16 เนื่องจากกา่รรุกรานของกองทัพขอมจากประเทศกัมพูชาสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 มากกว่า ทั้งนี้เพราะจารึกหรือพงศาวดารพม่ายังไม่เคยปรากฏเรื่องการรุกรานของพระเจ้าอนิรุทธมหาราชเข้ามาในประเทศไทยเลย




พระยืน ที่อานันทเจดีย์ เมืองพุกาม


พระคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม
 

3. ศิลปะแบบทวารวดี (ต่อ)

    สำหรับสถาปัตยกรรมในศิลปะแบบทวารวดีนั้น เท่าที่สำรวจกันแล้ว เป็นต้นว่าที่วัดพระเมรุและเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม จะเห็นได้ว่าเป็นซากอาคารใหญ่ ก่อด้วยอิฐใช้สอดิน บางครั้งก็ย่อมุมไม้และมีบันไดลงไปข้างล่าง เจดีย์จุลประโทนนั้นฐานสร้างซ้อนกันถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกใช้ประติมากรรมดินเผาประดับรอบฐาน ครั้งที่ 2 เปลี่ยนเป็นประติมากรรมปูนปั้น ภาพปูนปั้นเหล่านี้ปัจจุบันได้ค้นพบหลายภาพ และส่วนใหญ่รักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดนครปฐม และที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังมีสถานปัตยกรรมสมัยทวารวดีอีกหลายแห่งที่ได้การขุดแต่งแล้ว เช่น ที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ และเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น และยังคงมีสถาปัตยกรรมแบบทวารวดีอยู่อีกแห่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ดีพอใช้ คือเจดีย์ที่วัดกู่กุฏ เมืองลำพูน แม้ว่าอายุของสถาปัตยกรรมแห่งนี้จะยังไม่แน่นอน เพราะอาจซ้อมขึ้นในกลางพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ก็อาจจักเป็นศิลปะทวารวดีตอนปลายได้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมเช่นนี้คล้ายกับสัตตมหาปราสาท (Sat Mahal Pasada) ที่เมืองโปลนนารุวะ ในเกาะลังกา


ภาพปูนปั้นเล่าเรื่องชาดกประดับฐานเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม

เจดีย์วัดกู่กุฏ หรือ เจดีย์จามเทวี จังหวัดลำพูน

    นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วแบบอย่างเจดีย์ในสมัยทวารวดีก็ยังมีอยู่อีก คือมีฐานสี่เหลี่ยม มีองค์ระฆงค์เป็นรูปโอคว่ำ และมียอดแหลมอยู่ด้านบน น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยปาละ กับอีกแบบหนึ่งซึ่งมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกัน แต่มีองค์ระฆังเป็นรูปเหมือนบาตรคว่ำ และมียอดทำเป็นแผ่นกลมๆ วางซ้อนกันขึ้นไปด้านบน บนยอดสุดมีลูกแก้ว นอกจากนี้ จากการขุดค้นที่อำเภออู่ทอง วังหวัดสุพรรณบุรี ยังปรากฏว่ามีการค้นพบเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม การขุดค้นที่เมืองอู่ทองแสดงให้เห็นว่าศิลปะแบบศรีวิชัยจากทางภาคใต้ของประเทศไทยได้แพร่ขึ้นมายังภาคกลาง และได้เลยไปยังภาคตะวันออกของประเทศไทยในราวพุทธศตวรรษที่ 13 แต่ก็คงเป็นการเผยแพร่ของพุทธศาสนาลัทธิมหายานยิ่งกว่าการเผยแพร่ทางด้านการเมือง


เจดีย์ทรงโอคว่ำบนฐานสี่เหลี่ยม



เจดีย์ทรงบาตรคว่ำ


ฐานเจดีย์แปดเหลี่ยม

    นอกจากนี้ยังมีเจดีย์อีกแบบหนึ่งซึ่งถือเป็นแบบที่แปลกในประเทศไทย และยังไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใดแน่ คือ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ระยะเวลาอาจอยู่ในสมัยเดียวกับศิลปะทวารวดี ศาสตราจารย์บวสเซอลีเย่สันนิษฐานจากภาพสลักบนแผ่นอิฐที่พระธาตุพนมว่า ศาสนสถานแห่งนี้คงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 และปรากฏว่าพระธาตุพนมนี้ได้พังลงในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 และจากการคุนค้นภายในปรากฏว่าแต่เดิมมีปรางค์ขอมอยู่ภายใน ซึ่งอาจสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 และเดิมคงเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ ต่อมาจึงได้ดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนยอดนั้นมาต่อเติมขึ้นภายหลังในต้นพุทธศตวรรษที่ 23


พระธาตุพนม


วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

3. ศิลปะแบบทวารวดี (ต่อ)

    ศิลปะทวารวดีแพร่หลายอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย เป็นต้นว่าที่จังหวัดนครปฐม ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดลพบุรี และจังหวัดราชบุรีขึ้นไปจนถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่นที่เมืองฟ้าแดดสงยางในเขตจังหวัดกาฬลินธุ์ ได้ค้นพบใบเสมาศิลาสลักเป็นพระพุทธรูป พุทธประวัติ และชาดกต่างๆ และทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ทางภาคใต้ก็มีบ้าง พระพุทธรูปชั้นต้นๆ ทีพบกัมพูชาก็ดูจะเป็นแบบเดียวกัน ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ชาวเมืองละโว้ (ลพบุรี) ได้ยกขึ้นไปตั้งอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ มีราชธานีอยู่ที่เมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ศิลปะทวารวดีก็ได้แพร่หลายที่อาณาจักรแห่งนี้ อาณาจักรแห่งนี้คงอยู่จนเมื่อถูกชนชาติไทยตีได้ในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ดี พระพุทธรูปดินเผาส่วนใหญ่ที่พบที่เมืองลำพูน เช่นในซุ้มที่เจดีย์วักกู่กุฏหรือจามเทวี จังหวัดลำพูน คงมีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 16 เพราะได้รับอิทธิพลของศิลปะขอมจากภาคกลางของประเทศไทยเข้ามาปะปนแล้ว


ใบเสมาที่พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นภาพสลักพุทธประวัติตอนพิมพาพิลาป จัดเป็นใบเสมาที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุด
3. ศิลปะแบบทวารวดี (ต่อ)

    ในศิลปะแบบทวารวดีนี้ยังค้นพบศิลาสลักรูปธรรมจักรและกวางหมอบเป็นจำนวนพอใช้ รูปเหล่านี้หมายถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่ทรงประทานปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี และตามคติเหล่านี้มีอยู่ในประเทศอินเดียครั้งศิลปะอินเดียสมัยโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 3-6) และศิลปะแบบอมราวดีตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 7) เหตุนั้นจึงทำให็มีผู้กล่าวว่าพระพุทธศาสนาอาจเข้ามาแพร่หลายในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งขึ้นครองราชย์ในประเทศอินเดียราวปลายพุทธศตวรรษที่ 3 ดังที่ได้มีการกล่าวไว้ในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกาทวีปว่า "พระเจ้าอโศกได้ทรงส่งสมณทูต 2 องค์ คือ พระโสณะและพระอุตตะระมาประกาศพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ" และยังมีหลักฐานอีกอย่างหนึ่งคือรูปพระปฐมเจดีย์องค์เดิม ซึ่งบัดนี้มีจำลองให้เห็นอยู่ทางด้านใต้ของพระปฐมเจดีย์ ถ้ายกเอาองค์พระปรางค์ที่อยู่ข้างบนออกจะเห็นชัดว่ามีเค้าเดิมคล้ายพระสถูปที่สาญจีทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งสร้างหลังสมัยพระเจ้าอโศกเล็กน้อย
    อย่างไรก็ตามลวดลายเครื่องประดับรูปธรรมจักรเหล่านี้ส่วนวามไปคล้ายคลึงกับฝีมือช่างคุปตะในอิเดีย (พุทธศตวรรษที่ 9-11) หลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชร่วม 600 ปี เหตุนั้นธรรมจักรเหล่านี้จึงอาจเป็นฝีมือช่างสมัยทวารวดีทำขึ้นเลียนแบบวัตถุทีี่สมณทูตครั้งพระเจ้าอโศกนำเข้ามาและปัจจุบันนี้สูญหายไปเสียแล้วก็ได้ เรื่องที่ว่าเมืองนครปฐมน่าจะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรสุวรรณภูมิก่อนที่จะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวารวดีจึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน เพราะยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่แน่นอนสนับสนุน ปัจจุบันมีผู้สันนิษฐานว่าธรรมจักรนี้อาจเป็นวิษณุจักร ก่อสร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย ซึ่งนับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่ แต่ข้อสันนิษฐานนี้ไม่น่าเชื่อนัก เพราะเหตุว่าได้ค้นพบรูปธรรมจักรประกอบกับกวางหมอบอย฿่เสมอ อีกประการหนึ่ง บางครั้งฐานที่รองรับธรรมจักรก็สลักเป็นภาพพุทธประวัติประกอบอยู่ด้วย


   
    ธรรมจักรและกวางหมอบ
รูปจำลององค์พระปฐมเจดีย์องค์เดิม
                                                                         

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

3. ศิลปะแบบทวารวดี (ต่อ)

    3. แบบที่ 3 เป็นพระพุทธรูปรุ่นสุดท้ายของอาณาจักรทวารวดี มีอิทธิพลของศิลปะขอมสมัยบาปวนหรือลพบุรีตอนต้นเข้ามาปะปน เช่น พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีร่อง(ลักยิ้ม)แบ่งกลางระหว่างพระหนุ(คาง) ชายจีวรยาวลงมาจนถึงพระนาภี ปลายตัดเป็นเส้นตรง ประทับนั่งขัดสมาธิราบอย่างเต็มที่ และฐานบังคว่ำบัวหงายก็สลักขึ้นอย่างคร่าวๆ





พระพุทธรูปปางมารวิชัย พบที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี



     นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบความหมายที่แน่นอน คือ พระพุทธรูปประทับนั่งหรือยืนเหนือหลังพนัสบดี รูปที่ประทับยืนบางรูปอาจหมายถึงพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยเฉพาะถ้ามีกลดกั้นอยู่เหนือพระพุทธรูป และเทวดาทั้งสองด้านอาจหมายถึงพระอินทร์และพระพรหมตามพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท แต่ถ้าไม่มีกลดกั้นก็อาจสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และเทวดาทั้งสองด้านก็อาจหมายถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยก็ได้ ส่วนสัตว์ที่เรียกว่าพนัสบดีนั้น ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่ามีปากคล้ายครุฑ มีหูและเขาอย่างโค มีปีกอย่างหงส์ น่าจะสันนิษฐานได้ว่าสัตว์ตัวนี้เกิดจากการรวมกันของพาหนะของพระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม
กล่าวคือ ปากครุฑมาจากครุฑพาหนะของพระนารายณ์ หูและเขาจากโคนนทิพาหนะของพระอิศวร ปีกจากหงส์พาหนะของพระพรหม เหตุที่สลักพระพุทธรูปประดิษฐานเหนือหลังพนัสบดีอาจจะเป็นความคิดของพุทธศาสนิกชนที่ทำขึ้นเพื่อแสดงว่าพระพุทธศาสนามีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าศาสนาพราหมณ์ก็ได้นอกจากนี้ยังมีการพบภาพสลักบนผนังถ้ำพระโพธิสัตว์ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี แสดงภาพพระนารายณ์และพระอิศวรกำลังยืนและนั่งฟังพระพุทธองค์ประทานเทศนา ก็ดูจะสนับสนุนของสันนิษฐานข้างต้นได้เป็นอย่างดี 



พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือพนัสบดี


ภาพบนผนังถ้ำพระโพธิสัตว์ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี



3. ศิลปะแบบทวารวดี (ต่อ)

    2. แบบที่ 2 นั้น อิทธิพลพื้นเมืองเริ่มมีมากขึ้น เช่น ลักษระพระพักตร์มีขมวดพระเกศาใหญ่ บางครั้งก็มีรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูมหรือลูกแก้วอยู่เหนือพระเกตุมาลาหรือพระเมาลี พระพักตร์แบน พระขนงสลักเป็นเส้นนูนโค้งติดกันดังรูปปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนาหยัก ประทับนั่งขัดสมาธิหลวมๆตามแบบอมราวดี ถ้าครองจีวรห่มเฉียงมักมีชายจีวรสั้นอยู่เหนือพระอังสาซ้ายเป็นประจำ ชายจีวรดังกล่าวเริ่มขึ้นในศิลปะอินเดียสมัยคุปตะตอนปลาย แต่บางครั้งก็มีขอบจีวรต่อลงมาจากชายจีวรเหนือพระอังสาซ้าย พาดผ่านข้อพระหัตถ์และพระโสณี(สะโพก)ซ้าย อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศอลปะอินเดียสมัยปาละด้วย ดังะรัพุทธรูปนาคปรกซึ่งได้มาจากจังหวัดปราจีนบุรี
    สำหรับพระพุทธรูปยืน พระองค์ตั้งตรง ทรงแสดงปางวิตรรกะมุทรา(ปางประทานธรรม)ทั้งสองพระหัตถ์ ขอบจีวรเหมือนกันทั้งสองด้าน แสดงความได้สัดส่วนอย่างแท้จริง ปางเช่นนี้ในสมัยทวารวดีอาจหมายถึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระพุทธรูปรุ่นนี้คงมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-15

    
พระพุทธรูปราคปรก



พระพุทธรูปแสดงปางวิตรรกะมุทรา
3. ศิลปะแบบทวารวดี (ต่อ)

    พระพุทธรูปสมัยทวารวดีโดยทั่วไปอาจแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ
1. ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ลักษณะของอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะยังคงมีอยู่มาก รวมทั้งอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบอมราวดีซึ่งเข้ามาก่อนแบบคุปตะและหลังคุปตะ เช่น ไม่มีรัศมีบนพระเกตุมาลา พระพักตร์ยังคงคล้ายกับศิลปะอินเดีย ถ้าครองจีวรแบบห่มเฉียงก็ไม่มีชายจีวรอยู่เหนือพระอังสาซ้าย ประทับนั่งขัดสมาธิราบอย่างหลวมๆแบบอมราวดี หรือประทับยืนด้วยอาการตริภังค์(เอียงตน) และแสดงปางด้วยพระหัตถ์ขวาเพียงข้างเดียว พระหัตถ์ซ้ายยึดชายจีวรไว้ในพระหัตถ์ พระพุทธรูปแบบนั้ค้นพบไม่มากนัก
    พระพุทธรูปปางประทานพรซึ่งค้นพบที่วัดรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้พระองค์ยังคงคล้ายศิลปะแบบคุปตะและหลังคุปตะอยู่แต่พระพักตร์ก็เป็นแบบพื้นเมืองแล้ว เหตุนั้นจึงมีอายุอยู่ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13 น่าสังเกตว่าในสมัยทวารวดีนิยมใช้หินปูนในการสลักพระพุทธรูป อาจหาหินปูนก้อนหนาๆไม่ค่อยได้ ในการสลักถ้าพระหัตถ์ต้องยื่นออกมาจึงมักสลักพระหัตถ์ต่างหาก และมีเดือยนำมาสวมเข้ากับพระกรในภายหลัง



พระพุทธรูปปางประทานพร พบที่วัดรอ จ.พระนครศรีอยุธยา


 


วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

3. ศิลปะแบบทวารวดี (ต่อ)

     พระพุทธรูปแบบทวารวดีได้รับอิทธิพลอย่างเห็นได้ชัดจากพระพุทธรูปแบบคุปตะและหลังคุปตะ ซึ่งเจริญแพร่หลายอยู่ทางภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศอินเดียสมัยอมราวดีซึ่งเข้ามาก่อนหน้านั้น เนื่องจากอาณาจักรทวารวดีเจริญอยู่เป็นเวลานานมาก ฉะนั้นจึงได้รับอิทธิพลจากศิลปะรุ่นต่อมาของอินเดียอีก คือ ศิลปะแบบปาละ ซึ่งเป็นศิลปะทางพุทธศาสนา เจริญขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-17 พระพุทธรูปแบบทวารวดีชอบสลักด้วยศิลา ที่หล่อเป็นสัมฤทธิ์ก็มีบ้าง แต่มักจะเป็นขนาดเล็ก และได้มีการค้นพบพระพุทธรูปยืนสัมฤทธิ์ทวารวดีองค์หนึ่งที่เมืองฝ้าย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ สูงถึง 1.09 ม. อาจนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทวารวดีองค์ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา พระพุทธรูปองค์นี้พระพักตร์ยังคงคล้ายศิลปะอินเดียอยู่มาก เหตุนั้นจึงอาจถูกหล่อขั้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13
พระพุทธรุปสัมฤทธิ์สมัยทวารวดีที่จัดมาใหญ่ที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

3. ศิลปะแบบทวารวดี (ต่อ)

     นักปราชญ์ทางโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าอาณาจักรที่ชื่อว่า โถโลโปตี้ ซึ่งอยู่บริเวณทิศตะวันตกของอิศานปุระ คือประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน และทิศตะวันออกของศรีเกษตร ปัจจุบันคือประเทศพม่า น่าจะตรงกับคำว่าทวารวดี และได้มีการค้นพบเงินเหรียญ 4 เหรียญ สองเหรียญ ณ จังหวัดนครปฐม หนึ่งเหรียญ ณ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และอีกหนึ่งเหรียญที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีคำจารึกเป็นภาษาสันสกฤตว่า "ศรีทวารวดี ศวรปุณย" แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "บุญกุศลของพระราชาแห่งทวารวดี" จึงเป็นข้อสนับสนุนคำสันนิษฐานที่ของนักปราชญ์ทางโบราณคดีดังกล่าวว่าเป็นความจริง อาจจะจัดอายุไว้ในพุทธศตวรรษที่ 12 จึงได้ให้ชื่อศิลปะแบบนี้ว่าศิลปะทวารวดี แต่ศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีจะอยู่ที่ไหนยังคงเป็นข้อที่ต้องสันนิษฐานกันต่อไป ปัจจุบันเชื่อกันว่าอยู่ที่จังหวัดนครปฐม คือบริเวณเมืองโบราณที่มีพระประโทนเป็นจุดศูนย์กลาง เป็นเมืองขนาดใหญ่ มีแผนผังเมืองเป็นรูปไข่และมีคูน้ำล้อมรอบ ส่วนพระปฐมเจดีย์อยู่นอกเมืองด้านทิศตะวันตก

เงินเหรียญ จารึกว่าศรีทวารวดี ศวรปุณย