3. ศิลปะแบบทวารวดี (ต่อ)
สำหรับสถาปัตยกรรมในศิลปะแบบทวารวดีนั้น เท่าที่สำรวจกันแล้ว เป็นต้นว่าที่วัดพระเมรุและเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม จะเห็นได้ว่าเป็นซากอาคารใหญ่ ก่อด้วยอิฐใช้สอดิน บางครั้งก็ย่อมุมไม้และมีบันไดลงไปข้างล่าง เจดีย์จุลประโทนนั้นฐานสร้างซ้อนกันถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกใช้ประติมากรรมดินเผาประดับรอบฐาน ครั้งที่ 2 เปลี่ยนเป็นประติมากรรมปูนปั้น ภาพปูนปั้นเหล่านี้ปัจจุบันได้ค้นพบหลายภาพ และส่วนใหญ่รักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดนครปฐม และที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังมีสถานปัตยกรรมสมัยทวารวดีอีกหลายแห่งที่ได้การขุดแต่งแล้ว เช่น ที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ และเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น และยังคงมีสถาปัตยกรรมแบบทวารวดีอยู่อีกแห่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ดีพอใช้ คือเจดีย์ที่วัดกู่กุฏ เมืองลำพูน แม้ว่าอายุของสถาปัตยกรรมแห่งนี้จะยังไม่แน่นอน เพราะอาจซ้อมขึ้นในกลางพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ก็อาจจักเป็นศิลปะทวารวดีตอนปลายได้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมเช่นนี้คล้ายกับสัตตมหาปราสาท (Sat Mahal Pasada) ที่เมืองโปลนนารุวะ ในเกาะลังกา
 |
ภาพปูนปั้นเล่าเรื่องชาดกประดับฐานเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม |
 |
เจดีย์วัดกู่กุฏ หรือ เจดีย์จามเทวี จังหวัดลำพูน |
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วแบบอย่างเจดีย์ในสมัยทวารวดีก็ยังมีอยู่อีก คือมีฐานสี่เหลี่ยม มีองค์ระฆงค์เป็นรูปโอคว่ำ และมียอดแหลมอยู่ด้านบน น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยปาละ กับอีกแบบหนึ่งซึ่งมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกัน แต่มีองค์ระฆังเป็นรูปเหมือนบาตรคว่ำ และมียอดทำเป็นแผ่นกลมๆ วางซ้อนกันขึ้นไปด้านบน บนยอดสุดมีลูกแก้ว นอกจากนี้ จากการขุดค้นที่อำเภออู่ทอง วังหวัดสุพรรณบุรี ยังปรากฏว่ามีการค้นพบเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม การขุดค้นที่เมืองอู่ทองแสดงให้เห็นว่าศิลปะแบบศรีวิชัยจากทางภาคใต้ของประเทศไทยได้แพร่ขึ้นมายังภาคกลาง และได้เลยไปยังภาคตะวันออกของประเทศไทยในราวพุทธศตวรรษที่ 13 แต่ก็คงเป็นการเผยแพร่ของพุทธศาสนาลัทธิมหายานยิ่งกว่าการเผยแพร่ทางด้านการเมือง
 |
เจดีย์ทรงโอคว่ำบนฐานสี่เหลี่ยม |
 |
เจดีย์ทรงบาตรคว่ำ |
 |
ฐานเจดีย์แปดเหลี่ยม |
นอกจากนี้ยังมีเจดีย์อีกแบบหนึ่งซึ่งถือเป็นแบบที่แปลกในประเทศไทย และยังไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใดแน่ คือ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ระยะเวลาอาจอยู่ในสมัยเดียวกับศิลปะทวารวดี ศาสตราจารย์บวสเซอลีเย่สันนิษฐานจากภาพสลักบนแผ่นอิฐที่พระธาตุพนมว่า ศาสนสถานแห่งนี้คงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 และปรากฏว่าพระธาตุพนมนี้ได้พังลงในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 และจากการคุนค้นภายในปรากฏว่าแต่เดิมมีปรางค์ขอมอยู่ภายใน ซึ่งอาจสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 และเดิมคงเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ ต่อมาจึงได้ดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนยอดนั้นมาต่อเติมขึ้นภายหลังในต้นพุทธศตวรรษที่ 23
 |
พระธาตุพนม |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น