Powered By Blogger

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

3. ศิลปะแบบทวารวดี (ต่อ)

    3. แบบที่ 3 เป็นพระพุทธรูปรุ่นสุดท้ายของอาณาจักรทวารวดี มีอิทธิพลของศิลปะขอมสมัยบาปวนหรือลพบุรีตอนต้นเข้ามาปะปน เช่น พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีร่อง(ลักยิ้ม)แบ่งกลางระหว่างพระหนุ(คาง) ชายจีวรยาวลงมาจนถึงพระนาภี ปลายตัดเป็นเส้นตรง ประทับนั่งขัดสมาธิราบอย่างเต็มที่ และฐานบังคว่ำบัวหงายก็สลักขึ้นอย่างคร่าวๆ





พระพุทธรูปปางมารวิชัย พบที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี



     นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบความหมายที่แน่นอน คือ พระพุทธรูปประทับนั่งหรือยืนเหนือหลังพนัสบดี รูปที่ประทับยืนบางรูปอาจหมายถึงพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยเฉพาะถ้ามีกลดกั้นอยู่เหนือพระพุทธรูป และเทวดาทั้งสองด้านอาจหมายถึงพระอินทร์และพระพรหมตามพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท แต่ถ้าไม่มีกลดกั้นก็อาจสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และเทวดาทั้งสองด้านก็อาจหมายถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยก็ได้ ส่วนสัตว์ที่เรียกว่าพนัสบดีนั้น ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่ามีปากคล้ายครุฑ มีหูและเขาอย่างโค มีปีกอย่างหงส์ น่าจะสันนิษฐานได้ว่าสัตว์ตัวนี้เกิดจากการรวมกันของพาหนะของพระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม
กล่าวคือ ปากครุฑมาจากครุฑพาหนะของพระนารายณ์ หูและเขาจากโคนนทิพาหนะของพระอิศวร ปีกจากหงส์พาหนะของพระพรหม เหตุที่สลักพระพุทธรูปประดิษฐานเหนือหลังพนัสบดีอาจจะเป็นความคิดของพุทธศาสนิกชนที่ทำขึ้นเพื่อแสดงว่าพระพุทธศาสนามีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าศาสนาพราหมณ์ก็ได้นอกจากนี้ยังมีการพบภาพสลักบนผนังถ้ำพระโพธิสัตว์ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี แสดงภาพพระนารายณ์และพระอิศวรกำลังยืนและนั่งฟังพระพุทธองค์ประทานเทศนา ก็ดูจะสนับสนุนของสันนิษฐานข้างต้นได้เป็นอย่างดี 



พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือพนัสบดี


ภาพบนผนังถ้ำพระโพธิสัตว์ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น